Last updated: 27 ต.ค. 2565 | 594 จำนวนผู้เข้าชม |
นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หมายถึง การประกอบกิจการด้วยความดูแลใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ตลอดจนมีธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและยุติธรรม บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักการแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม 8 ข้อของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บริษัทนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-Process) ดังนี้
1. การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสมเช่น ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้ายโดยไร้ข้อมูลความจริง ไม่สนับสนุนการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน
2. ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ในราคาเสนอขายที่เหมาะสม รักษาความลับของลูกค้าสร้างโอกาสในการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อความเจริญเติบโตควบคู่กับการสร้างกำไรของธุรกิจอย่างยั่งยืน และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด
3. การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่สนับสนุนให้มีการสร้างความสำเร็จของงานด้วยวิธีการทุจริต ห้ามคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท กระทำการอันใดที่เป็นการเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะใช้ประโยชน์หรือทรัพย์สินของบริษัทหรือของตนเอง โดยคณะกรรมการบริษัทอนุมัตินโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น และมีการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายอย่างน้อยทุกปีและฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น
คณะกรรมการบริษัทมีความประสงค์ที่จะประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมกับโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต และได้อนุมัตินโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่นไว้แล้ว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
3.1 กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนต่อการต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
คณะกรรมการบริษัท : มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ที่มีประสิทธิภาพ และให้คำปรึกษา ให้ข้อแนะนำในการพิจารณาบทลงโทษและการแก้ไขปัญหา ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ และ/หรือคณะกรรมการบริหารร้องขอ
คณะกรรมการบริหาร : มีหน้าที่ทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติ และกำหนดคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการตรวจสอบสั่งการ และเสนอผลการสอบสวนให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อร่วมกันพิจารณาบทลงโทษและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
คณะกรรมการตรวจสอบ : มีหน้าที่รับแจ้งเบาะแสการกระทำอันทุจริตและคอร์รัปชั่น และสั่งการให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้ผู้ตรวจสอบภายในตรวจสอบและรายงานระบบควบคุมว่ามีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชั่นหรือไม่
ผู้ตรวจสอบภายใน : มีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานความเหมาะสมและเพียงพอของระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบมอบหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
กรรมการผู้จัดการ : ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายนี้ โดยการสื่อสารกับบุคลากรในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้ทราบถึงนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น และทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องและมีการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเพียงพอ อีกทั้งช่วยเหลือคณะกรรมการตรวจสอบ/คณะกรรมการบริหาร ในการมอบหมายให้มีผู้สืบหาข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้งหรือดำเนินการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร/คณะกรรมการตรวจสอบ อีกทั้งมีหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจสั่งการตามที่เห็นสมควร เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส หรือ ผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ให้ได้รับความเดือนร้อน อันตรายใด หรือความไม่ชอบธรรมอันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส ร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูล
3.2 กำหนดแนวปฏิบัติ ตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น เพื่อให้บุคลากรทุกคนปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ได้แก่
1) ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และบริษัทในสายธุรกิจดำเนินการหรือยอมรับหรือให้การสนับสนุน การทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม และกำหนดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนมีการทบทวนแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด ประกาศ กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
2) มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการของบริษัท ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา พนักงานทุกคนทุกระดับ ที่จะมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นบรรลุตามนโยบายที่กำหนด
3) บริษัทไม่กระทำหรือสนับสนุนการให้สินบนในทุกรูปแบบ ทุกกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแล รวมถึงการควบคุม การบริจาคเพื่อการกุศล การบริจาคให้แก่พรรคการเมือง การให้ของขวัญทางธุรกิจและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ มีความโปร่งใสและไม่มีเจตนาเพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือเอกชน ดำเนินการที่ไม่เหมาะสม
4) บริษัทจัดให้มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม สม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะงานขาย การตลาด จัดซื้อ
5) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ซื่อสัตย์และยึดมั่นในความเป็นธรรม ส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงสื่อให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัท
6) มีความรับผิดชอบต่อการจัดทำรายงานทางการเงินที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน ตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป
7) หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ไม่ถือหุ้นในบริษัทคู่แข่ง หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อประโยชน์ของตนในการซื้อหรือขายหุ้นของบริษัท หรือให้ข้อมูลภายในแก่ผู้อื่น
8) จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่รัดกุมมีประสิทธิภาพ และมีการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายในทุกปี ทั้งนี้ บริษัทได้มีการว่าจ้างบริษัทภายนอก (Outsource) ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อประเมินความเสี่ยงและรายการที่ผิดปกติ โดยจะนำเสนอผลการตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน
9) หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตที่มีผลเกี่ยวข้องกับบริษัททั้งทางตรงหรือทางอ้อม ควรแจ้งให้กรรมการผู้จัดการทราบทันที โดยบริษัทจะรักษาความลับของผู้แจ้งหรือร้องเรียนการทุจริต
10) เพื่อให้ทุกคนในองค์กรได้รับทราบนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัทจะเผยแพร่นโยบายดังกล่าวผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น จดหมาย อีเมล์ แบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) โดยจะทบทวนนโยบายดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอทุกปี
3.3 ขั้นตอนการดำเนินการสืบสวน และลงโทษต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น
1) เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ประธานคณะกรรมการตรวจสอบจะพิจารณา และแจ้งประธานคณะกรรมการบริหารสั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้ผู้ตรวจสอบภายในตรวจสอบและรายงานระบบควบคุมว่ามีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชั่นหรือไม่
2) คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แจ้งผลการสืบสวนข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการบริหาร/คณะกรรมการตรวจสอบ ทราบเป็นระยะ
3) คณะกรรมการตรวจสอบอาจมอบหมายให้ตัวแทนแจ้งผลความคืบหน้าให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบ
4) หากการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นจริง บริษัท จะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและพิสูจน์ตนเองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่ได้ถูกกล่าวหา
5) คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะรวบรวมข้อมูลหรือหลักฐานและข้อสรุปพร้อมทั้งข้อเสนอแนะด้านโทษทางวินัย เพื่อเสนอแก่คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริหารเป็นผู้สอบทานเพื่อเสนอให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อร่วมกันพิจารณาลงโทษและแก้ไขปัญหาดังกล่าว คำตัดสินของประธานคณะกรรมการบริหารให้ถือเป็นที่สิ้นสุด
4. การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม
บริษัทฯ ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ดูแลด้านความเป็นอยู่ ความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ระดับองค์กรและการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับการทำงานของพนักงานอย่างมืออาชีพ พัฒนาระบบการทำงานและสร้างนวัตกรรมในองค์กร
5. การมีนวัตกรรมและเผยแพร่นวัตกรรมซึ่งได้จากการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทฯ ตระหนักดีว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ จึงให้ความสำคัญในการดูแลและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กร บริษัทจึงมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Co-Creation) ในการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างความสมดุลระหว่างมูลค่าและคุณค่าต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
5.1 วิเคราะห์กระบวนการทำงานอย่างละเอียด เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาไปสู่การค้นพบนวัตกรรมทางธุรกิจ
5.2 สร้างโอกาสในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อความเจริญเติบโตควบคู่กับการสร้างกำไรของธุรกิจอย่างยั่งยืน
5.3 การร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและสังคม เข่น ขาเทียมสำหรับผู้พิการ
6. การเคารพสิทธิมนุษยชน
บริษัทฯ เคารพในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชน เช่น การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม การไม่บังคับใช้แรงงาน การไม่ใช้แรงงานเด็กและสตรีมีครรภ์ การให้เกียรติต่อพนักงาน
7. การร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม
บริษัทฯ ส่งเสริมการใช้กระบวนการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยสร้างเศรษฐกิจและความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับ
8. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ไม่กระทำการใดๆ ที่จะส่งผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการประหยัดพลังงาน และพิจารณานำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาสินค้าและบริการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยในการใช้งาน ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่จะมีส่วนสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
กิจกรรม การดำเนินงานและการจัดทำรายงาน
ก. กิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
1) การดำเนินงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการของธุรกิจ
คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน พนักงานจึงได้รับการปลูกฝังในเรื่อง การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การประหยัดพลังงานไฟฟ้า น้ำ การลดปริมาณของเสียที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการปฏิบัติงาน
2) การดำเนินงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นหลังกระบวนการของธุรกิจ
บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญในการประกอบธุรกิจควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ข. การดำเนินงานและการจัดทำรายงาน
ความรับผิดชอบต่อสังคมตามนโยบายและแนวปฏิบัติข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจของกิจการที่บริษัทได้ปฏิบัติมาโดยตลอด โดยบริษัทได้ดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางที่กำหนด ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเล่นพรรคเล่นพวก ทางบริษัทจึงไม่มีนโยบายในการซื้อสินค้ากับผู้จำหน่าย (Supplier) รายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ โดยมีการสั่งซื้อจากผู้จัดจำหน่ายหลายรายเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบราคาและเพิ่มอำนาจการต่อรอง
สำหรับกระบวนการผลิตสินค้า บริษัทมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตของผู้รับจ้างผลิต ตลอดจนมาตรฐานต่าง ๆ ที่รองรับก่อนจ้างผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ตลอดจนฝ่ายการตลาดจะติดตามผลหลังการขาย เพื่อรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากลูกค้า แล้วนำมาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่หลากหลายให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
27 ต.ค. 2565
27 ต.ค. 2565
27 ต.ค. 2565
27 ต.ค. 2565